ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด เกิดจากการที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เมื่อได้รับความร้อนมากเกินไป ร่างกายจึงทำงานผิดปกติ สังเกตอาการได้ดังนี้ หน้าแดง ตัวร้อนจัด รู้สึกกระหายน้ำ ปวดศีรษะ ชัก มึนงง หรืออาจหมดสติไปในที่สุด
วิธีป้องกันการเกิดฮีทสโตรก และ วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น
อากาศหน้าร้อนแบบนี้มักจะมากับโรคภัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผดผื่นคัน ท้องร่วง ลมพิษ อาหารเป็นพิษ และอีกหนึ่งภัยอันตรายที่มองข้ามไม่ได้จากสภาพอากาศอันอบอ้าวขึ้นทุกวันแบบนี้คือ Heat Stroke หรือ โรคลมแดด นั่นเองค่ะ หลายคนคงคุ้นชื่อนี้กันดี โรคนี้เกิดจากอะไร อันตรายขนาดไหน อาการเป็นอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ มาฝากทุกท่านกันค่ะ
สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงนี้ จะทำให้คนรู้สึกหน้ามืดหรือวูบบ่อย โดย ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป การทำงานของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง
แรกเริ่มอาการของโรคนี้คือ จะไม่มีเหงื่อออก ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อนมากก็ตาม โดยสังเกตง่ายๆ จากผู้ที่มีอาการ ดังนี้ หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำเป็นอย่างมาก มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา หรืออาจหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไป ที่จะมีเหงื่อออกด้วย สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศร้อนชื้น ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึกโดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
การป้องการการเกิดฮีทสโตรก
1.ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน ในวันที่มีอากาศร้อนจัด
2.ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป
3.ไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
4.ควรจิบน้ำบ่อยๆ แม้จะอยู่ในที่ร่มก็ตาม
5.เลือกสวมเสื้อผ้าที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เช่น สีดำ
6.เด็กเล็ก และคนชรา ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ให้อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
7.หากต้องทำงานในที่ร้อนก็ควรดื่มน้ำ 1 ลิตร/1 ชม.
วิธีการช่วยเหลือ
1.ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการนำตัวเข้ามาในที่ร่ม
2.คลายเสื้อผ้าให้หลวม
3.จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
4.ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว และศีรษะ
5.ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
6.หากยังไม่ฟื้น ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
เพียงเท่านี้เราก็สามารถรับมือกับโรคที่มากับหน้าร้อนอย่างเจ้าฮีทสโตรกได้แล้วค่ะ หากท่านไหนที่บ้านมีทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฮีทสโตรกได้ หมั่นคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หาน้ำให้จิบบ่อยๆ หากมีการพาไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แต่ทางที่ดีที่สุดคือควรพาไปในที่ที่มีอากาศถ่ายเท และไม่อบอ้าวจนเกินไปนะคะ