สภาพอากาศอันร้อนระอุ เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคเสี่ยงต่างๆ โรคหน้าร้อน ที่เกิดในเด็ก ได้ง่าย หากปล่อยปละละเลย ขาดการดูแลเอาใจใส่ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตเด็กได้
ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ เด็กๆ หลายคนก็ปิดเทอมกันซะด้วย คุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็คงจะจัดทริปไปเที่ยวพักผ่อนกันอย่างแน่นอน ด้วยฤดูร้อนบ้านเราที่เรียกได้ว่าร้อนตับแตกแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรมองข้ามการดูแลเด็กในช่วงนี้นะคะ เพราะภูมิคุ้มกันเขาอาจยังไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่มากนัก เสี่ยงเป็นโรคได้ต่างๆ นานาได้ ถ้าไม่อยากให้ลูกของคุณป่วยจนทำให้หมดสนุกกับทริปนี้ เรามาดูโรคที่มากับหน้าร้อน และวิธีป้องกันเลยดีกว่าค่
โรคที่มากับหน้าร้อน
1.โรคลมแดด
เด็กเล็กวัยนี้ภูมิคุ้มกันในร่างกายยังแข็งแรงสู้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่ได้ บางทีอากาศเปลี่ยนนิดหน่อยก็ทำให้ไม่สบายเอาง่ายๆ โรคลมแดดเกิดจากอุณหภูมิรอบตัวสูงจัด ร่างกายกำจัดความร้อนจากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายไม่ได้เหมือนปกติ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการเต้นของหัวใจ และระบบหลอดเลือด
อาการ ที่ตามมามีตั้งแต่เกิดผื่นแดงตามร่างกาย ไปจนถึงเป็นลมหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรงอยู่แล้วก็ตาม แต่สาเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ง่ายเพราะร่างกายเด็กมีการเผาผลาญพลังงานที่สูงกว่าวัยอื่นๆ แต่อวัยวะหรือระบบระบายความร้อนยังมีขนาดเล็กนั่นเอง สำหรับการสังเกตสัญญานเตือนว่าจะเป็นลมแดดหรือไม่นั้น เด็กจะมีอาการเริ่มตัวร้อน ชีพจรเต้นเร็วแรง หิวน้ำบ่อย และหายใจกระชั้นถี่เหมือนคนเพิ่งออกกำลังกายเสร็จ
สำหรับวิธีการป้องกัน แนะนำว่าในวันที่อากาศร้อนจัดพยายามให้เด็กทานน้ำเยอะๆ ประมาณ 8-10 แก้ว ใส่เสื้อผ้าบางๆ ถ้ามีหมวกก็ใส่ไว้ด้วย ที่สำคัญคือควรจำกัดเวลาการเล่นกลางแจ้งขณะแดดแรงจัด แค่นี้ก็หมดห่วงได้แล้วค่ะ
2.โรคระบบทางเดินหายใจ
ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม ซึ่งฤดูร้อนมีโอกาสเป็นโรคกลุ่มนี้ได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่อย่าได้วางใจ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือหากอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดีร่วมกับร่างกายที่อ่อนแอ ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นหวัดต้องให้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ถ้าตัวร้อนให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำ คอยประคบระบายความร้อนออก และควรแยกนอนร่วมกับผู้อื่น หากยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ ในบางกรณีน้ำมูกอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว อาจต้องกินยาปฏิชีวนะร่วมด้วย นอกจากนี้ การป้องกันที่ดี ต้องป้องกันจากทางผ่านของเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศ ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้
1.สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย เช่น โรงพยาบาล หรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
2.หลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งที่มีผู้คนแออัด หรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
3.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
4.หมั่นทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า และสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ
3.โรคท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ
เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลทำให้อาหารที่เตรียมไว้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ ซึ่งสามารถติดต่อได้โดยการทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป หากลูกเรารับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออาหารค้างคืน จะทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว ท้องเสีย และหากลูกถ่ายมากๆ จะทำให้ร่างกายขาดน้ำ มีไข้ และช็อคได้ เมื่อลูกน้อยเริ่มมีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้ง ขึ้นไป ใน 1 วัน เบื้องต้นให้ดูแลรักษาด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป หากลูกยังไม่หยุดถ่ายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกัน สามารถทำได้โดยการดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหารที่สะอาด เก็บอาหาร และปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ควรดูแลเรื่องความสะอาดของใช้ของลูก อุปกรณ์ที่ใช้ชงนม รวมถึงเช็ดความทำสะอาดเต้านม และมือของคุณแม่ด้วยทุกครั้ง
4.โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) ที่น่ากลัวคือปัจจุบันนี้ ในบ้านเรายังมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า โดยสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากติดเชื้อในสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย บ้านไหนมีสัตว์เลี้ยงต้องดูแลและเสริมภูมิคุ้มกันก่อนที่จะนำมาติดลูกของเรา เนื่องจากเด็กเล็กมักชอบเล่นสนุกกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแล เพราะหากเด็กติดเชื้อโดยการถูกกัด หรือมีแผลขีดข่วนจากการเล่น จนแผลเปิดและติดเชื้อนี้เข้ามา เด็กๆ จะเกิดอาการอักเสบในสมอง และเยื่อสมอง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด
วิธีป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ
2-4 เดือน และหากถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่กับน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง ใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
5.โรคผิวหนังจากเชื้อรา ผด ผื่นคัน
ในช่วงฤดูร้อนทำให้เกิดความอับชื้นตามซอกผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และความร้อนจากอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้เกิดโรคผดผื่นร้อนได้ง่าย เกิดอาการคัน หรือผิวลอก เมื่อประกอบกับมีภาวะแห้งแล้ง มีน้ำในการใช้อุปโภคน้อย เกิดการหมักหมม และเกาแผล จะทำให้ผิวหนังติดเชื้อได้ง่าย โดยเชื้อแบคทีเรียจะวิ่งเข้าสูแผลถลอกที่เกิดจากการเกา ส่งผลให้แผลอักเสบ เป็นหนอง ในบางครั้งอาจทำให้เกิดเชื้อรา เป็นกลากเกลื้อนตามมาได้อีก
วิธีการดูแล
1.อาบน้ำ หรือเช็ดตัวให้ลูกบ่อยๆ หลีกเลี่ยงอากาศร้อนอบอ้าว สวมเสื้อผ้าบางๆ ตัดผมลูกให้สั้น
2.ลดการใช้ผ้าอ้อมเพื่อป้องกันการอับชื้น หากลูกไม่สบายตัวอาจใช้คาลาไมน์ทาบริเวณที่เป็นผื่น
3.สังเกตผื่นก่อนว่ามาจากสาเหตุอะไร เช่น แพ้อาหารเสริม แมลงกัดต่อย ผื่นส่าไข้ หัด หรืออีสุกอีใส
4.เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้ลูกน้อยใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดด
รู้สาเหตุ และวิธีป้องกันเรียบร้อย คงจะหายกังวลกันแล้วใช่ไหมคะ ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคนไว้ด้วย ถ้าจะเที่ยวในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ควรดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด เพราะโรคที่เกิดมาจากอากาศร้อนนั้น หากไม่ป้องกันก็อาจเกิดอันตรายมากกว่าที่คิดได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาดร่างกาย หรือดื่มน้ำให้มากๆ ในช่วงอากาศร้อนแบบนี้